Tuesday, January 11, 2011

ท้องผูกทำอย่างไรดีคะ

โรคท้องผูก เป็นอาการที่พบได้บ่อยมากและ เป็นอาการที่ผู้ป่วยต้องมาปรึกษาหมออยู่เป็นประจำ และบางครั้งบางคราวก็อาจเป็นเรื่องใหญ่ เช่นผู้ป่วยที่มีอายุสูง อาจทำให้อาการรุนแรงปวดท้องได้มากๆ เนื่องจากลำไส้ถูกอุดด้วยอุจจาระที่แข็งมากเวลาที่ถ่ายอุจจาระอาจบาดปากทวาร หนัก ทำให้เกิดอาการเลือดออกได้มากๆ หรืออาจเกิดร่วมกับโรคริดสีดวงทวาร ทำให้ตกเลือดจนซีดและบางรายถึงกับต้องให้เลือดแก่ผู้ป่วยก็มี
โดยทั่ว ไปอาการนี้ดูเหมือนกับไม่มีความสำคัญเท่าไรนัก แต่ในภาวะบางภาวะดังตัวอย่างที่กล่าวมาแล้วก็อาจทำให้เกิดอันตรายแก่ผู้ป่วย ได้ ฉะนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ประชาชนควรได้ทราบไว้ตลอดจนถึงการระวัง ป้องกัน ก่อนอื่นจำเป็นต้องกล่าวถึงการถ่ายอุจจาระก่อน
                                                     

อุจจาระ เป็นกากของอาหารที่ร่างกายไม่ได้ใช้แล้ว ไม่ย่อยต่อไปและไม่ดูดซึมไปเพื่อประโยชน์ต่อร่างกาย จำนวนอุจจาระของคนปกติ ไม่จำเป็นต้องเท่ากันเสมอทุกวันไป ทั้งนี้แล้วแต่วันใดหรืออาหารชนิดใดที่กินในวันนั้น วันใดกินอาหารที่มีกากมากหรืออาหารที่ย่อยยากอุจจาระก็จะมีจำนวนมากกว่า ธรรมดา ถ้าวันใดคนผู้นั้นกินอาหารที่ย่อยง่าย ไม่มีกาก อาหารถูกย่อยและดูดซึมเพื่อไปใช้เป็นประโยชน์ต่อร่างกายหมดหรือเกือบหมด อุจจาระก็มีน้อย

ผู้ป่วยบางคนช่างสังเกตมากมักมาตั้งคำถาม ถามผมบ่อยๆ ว่า “เอ ทำไมผมกินอาหารวันหนึ่งมากมายอุจจาระทำไมมีนิดเดียวมันหายไปไหนหมด”ในทางตรงกันข้าม “คุณหมอครับ ผมกินอาหารไปไม่มากเลยในวันหนึ่งๆ แต่ทำไมอุจจาระออกมามากมาย แต่ลักษณะก็ ปกติดี ลำไส้ผมจะซึมหรือเปล่า”อุจจาระที่ปกติ จะเป็นอุจจาระที่เป็นก้อน มีกลิ่นตามธรรมดา ไม่เหลวหรือแข็งเกินไป ถ่าย ประมาณวันละ 1-3 ครั้งโดยมากมักถ่ายสะดวก ไม่ต้องอาศัยแรงเบ่งมาก การถ่ายวันเว้นวันอาจไม่เป็นอาการท้องผูก ถ้าอุจจาระนั้นถ่ายง่ายสะดวกและไม่แข็งเกินไป

อาการท้องผูกหมายถึง ผู้ป่วยจำเป็นต้องออกแรงเบ่งมากในเวลาถ่าย
บางทีถึงเบ่งก็ไม่ออก ต้องสวนหรือแคะออก แม้ผู้ป่วยจะถ่ายทุกวัน ถ้าอุจจาระแข็งมากต้องอาศัยแรงเบ่งมากก็เรียกเป็นอาการท้องผูกเช่นเดียวกัน โดยมากผู้ป่วยที่มีอาการมาก อาจถ่ายหลายๆ วันครั้งหนึ่ง ในบางคนที่ข้าพเจ้าเคยพบสองอาทิตย์จึงถ่ายครั้งหนึ่งก็มี ในผู้ป่วยที่เป็นโรคบางชนิด เช่น ลำไส้ใหญ่โตขนาดมหึมาแต่กำเนิดอาจเป็นเวลาแรมเดือนกว่าผู้ป่วยจะถ่ายอุจจาระ ครั้งหนึ่ง

การถ่ายอุจจาระจะเกิดขึ้นในเมื่อกากอาหารหรืออุจจาระไปขังตัวอยู่ในลำไส้ใหญ่ส่วนล่าง ซึ่ง ลำไส้ในตอนนั้นจะถูกกระตุ้นด้วยก้อนอุจจาระที่ถูกขังอยู่ข้างใน ทำให้ลำไส้บีบตัวเกิดอาการปวดต่างๆ ของการอยากจะถ่าย การถ่ายจริงๆ อาศัยกำลังจากกล้ามเนื้อกะบังลมกล้ามเนื้อหน้าท้องที่ขณะเบ่ง ทำให้เกิดความดันสูงในช่องท้อง และเป็นแรงดันช่วยให้ขับอุจจาระออกมา ฉะนั้น ในคนชรา อายุมาก กล้ามเนื้อกะบังลมและหน้าท้องหย่อน ในหญิงที่มีบุตรมากหน้าท้องแตก กล้ามเนื้อหน้าท้องบางและอ่อนย่อมทำให้มีอาการท้องผูกได้ง่ายและเป็นเรื่อง ที่แก้ไขลำบาก ถ้ากำลังของการเบ่งจากกล้ามเนื้อเหล่านี้ลดน้อยลง

ตาม ปกติในสัตว์ชั้นต่ำและมนุษย์ มักจะมีปฏิกิริยาสะท้อนที่เกิดขึ้นในเมื่อมีอาหารตกถึงกระเพาะอาหาร จะมีการบีบตัวของลำไส้ใหญ่เกิดขึ้น ที่เรียกทางแพทย์ว่า ปฏิกิริยาสะท้อนจากกระเพาะถึงลำไส้ใหญ่ มนุษย์หรือสัตว์จะอยากถ่ายอุจจาระทันทีจะเห็นตัวอย่างได้ดี เช่นในสัตว์พวก ช้าง ม้า วัว ควายซึ่งเมื่อกินอาหารแล้วจะถ่ายอุจจาระอยู่เรื่อยๆดังนั้น ในมนุษย์จึงมีความรู้สึกอยากถ่ายอุจจาระอยู่เสมอหลังอาหาร

บางคน ปฏิกิริยาสะท้อนนี้ดีมาก ต้องถ่ายวันละ 3 ครั้ง หรือทุกครั้งหลังกินอาหาร คนพวกนี้จะไม่มีอาการท้องผูกเลย แต่บางคนไม่ทราบถึงกลไกอันนี้ กลับวิ่งมาหาหมอโดยนึกว่าเป็นโรค แต่เมื่ออธิบายปรากฏการณ์อันเป็นธรรมชาติอันนี้ให้เข้าใจ ก็เป็นที่พึงพอใจและหมดความกังวลไป



ใน สังคมมนุษย์สมัยปัจจุบันนี้เนื่องจากอารยธรรม ความเจริญก้าวหน้า งานประจำซึ่งหนัก การต่อสู้เพื่อดำรงชีวิตมีมากขึ้นมนุษย์ต้องปรับตัวให้เข้ากับสังคม มีการทำงานอย่างรีบร้อนเพื่อแข่งกับเวลา จำเป็นต้องรีบอยู่เสมอ สังคมจึงเปลี่ยนให้มนุษย์อุจจาระวันละครั้งเดียวในตอนเช้าเมื่อตื่นนอน และรีบไปทำงานเมื่อถึงที่ทำงานไม่มีเวลาถ่ายอุจจาระถึงเวลามีความรู้สึกอยากจะถ่ายก็ยังไม่มีเวลา ต้อง ทำงานติดประชุม หรืผลัดตัวเองเลื่อนเวลาไป การกระทำเช่นนี้บ่อยๆ และเสมอๆ ทำให้ปฏิกิริยาสะท้อนและความไวของลำไส้ใหญ่ลดน้อยลงไปเรื่อยๆลำไส้ใหญ่ส่วน ล่างก็เคลื่อนไหวน้อยลง ต่อไปก็เกิดอาการท้องผูกเรื้อรังเกิดขึ้น จำเป็นต้องพึ่งหรืออาศัยยาถ่ายหรือระบาย

การใช้ยาถ่ายหรือระบายไปนานๆ ลำไส้ก็ชินต่อการกระตุ้นโดยยาพวกนี้ ต้องอาศัยยาแรงขึ้นทุกทีๆ ต่อมาต้องอาจเปลี่ยนเป็นวิธีสวนและต้องสวนหรือเหน็บกันประจำไปตลอดชีวิต ผลแทรกซ้อนที่ตามาก็คือลำไส้ใหญ่อาจหย่อนกำลังการเคลื่อนไหวบีบตัวช้าลงจน ไม่บีบ ผู้ป่วยอาจมีแผลจากการถ่ายอุจจาระแข็ง ทำให้อุจจาระบาดทวารหนัก และอาจเกิดริดสีดวงและการอักเสบ ตกเลือดทางทวารหนักต่อไปได้
ส่วนมากของผู้ป่วยที่มีอาการนี้มักเป็นเนื่องมาจากการปล่อยปละละเลยและตามใจตัวเองถึงเวลาถ่ายไม่ถ่ายไปทำงานอย่างอื่นเสีย การหัดนิสัยตัวเองให้พยายามถ่ายอุจจาระทุกวันให้เป็นเวลาเป็นการป้องกันอย่างดีที่สุด ต้องทำให้เคยชินและเป็นประจำทุกวัน ถ้าทำได้เช่นนี้ อาการท้องผูกจะไม่มีโอกาสมาแผ้วพานท่านทั้งหลายได้เป็นอันขาด

อาการ ท้องผูกอีกกลุ่มหนึ่งเป็นผลเนื่องมาจากผู้ป่วยมีโรคจริงๆ ในระบบทางเดินอาหารแต่นับเป็นส่วนน้อย เช่นในผู้ป่วยที่มีเนื้องอกในลำไส้ใหญ่อุดตัน หรือกั้นทางเดินของอุจจาระ โรคริดสีดวงทวารหัวใหญ่ที่อาจมาขวางทางออกของอุจจาระ โรคมะเร็ง โรคความผิดปกติของลำไส้ใหญ่มาแต่กำเนิด โรคไม่มีทวารหนักและโรคอื่นๆ อีก การรักษาของอาการท้องผูกในกลุ่มนี้ คือ การรักษาสาเหตุที่เป็นต้นเหตุ เช่นการผ่าตัดเนื้องอกหรือมะเร็งออกไป ไม่มีการรักษาอย่างอื่น

การรักษาอาการท้องผูก เป็นของยาก ต้องอาศัยความร่วมมือที่ดีจากผู้ป่วยในการหัดนิสัยของตนเองใหม่พยายามบังคับตัวเองให้ใช้กำลังในการเบ่ง พยายามให้ถ่ายให้ได้เองหลังกินอาหารเช้า ขณะ ที่ประสาทขับถ่ายอุจจาระกำลังถูกกระตุ้นอยู่ หัดออกกำลังให้กล้ามเนื้อหน้าท้อง และกะบังลมแข็งแรงเพื่อช่วยกำลังในการเบ่ง ในผู้ป่วยที่ไม่ร่วมมือ การรักษาย่อมลำบาก มักไปลงเอยในการใช้ยาถ่าย และยาระบายแบบต่างๆ ที่มีขายกันเกลื่อนในท้องตลาด

การป้องกันเป็นเรื่องสำคัญที่สุด และช่วยได้ดีที่สุด และควรจะถือหลักต่อไปนี้
1. ถ่ายอุจจาระทุกเช้า โดยเฉพาะหลังอาหารเช้าให้เป็นเวลา
2. อยากถ่ายรีบถ่าย อย่ารอเวลาและผลัด
3. หมั่นออกกำลังกายเสมอ โดยเฉพาะกล้ามเนื้อหน้าท้อง และการหายใจ
4. กินน้ำให้มากพอควรทุกวัน
5. กินผักและผลไม้ทุกวัน
6. อย่ารังเกียจส้วม พยายามถ่ายให้ได้ทุกแห่ง
ถ้าท่านทั้งหลายทำได้คงไม่มีอาการนี้เป็นแน่

http://www.doctor.or.th/node/6847

No comments:

Post a Comment