Thursday, December 9, 2010
อะไรทำให้เกิดรังแค รักษาให้หายขาดได้ไหม
ยารักษารังแค
คำถาม : อะไรทำให้เกิดรังแค รักษาให้หายขาดได้ไหม
รังแค เกิดจากการหลุดลอกของชั้นนอกสุดของหนังศีรษะมากเกินไป รังแคเป็นชื่อเรียกสะเก็ดที่หลุดออกมาจากหนังศีรษะ ซึ่งเป็นส่วนของผิวหนังชั้นนอกสุดมีการหลุดลอกออกจากหนังศีรษะในปริมาณที่ มากกว่าปกติ ปกติแล้วผิวหนังชั้นนอกสุดที่เรียกว่า ชั้นขี้ไคล จะมีการหลุดลอกทิ้งตามปกติอยู่แล้ว ซึ่งจะหลุดลอกออกไปขณะอาบน้ำชำระล้างร่างกาย หรือในขณะที่ดำเนินชีวิตตามปกติ และในปริมาณน้อยจนไม่ได้สังเกต กรณีที่สะเก็ดที่หลุดออกจากหนังศีรษะเหล่านี้มีการหลุดลอกมากกว่าปกติ จนสามารถสังเกตเห็นการหลุดลอกได้จึงจะถือว่าเป็นรังแค
ชนิดของรังแค
รังแค เป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่ง ที่เกิดจากความผิดปกติของการลอกหลุดของเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้วบริเวณหนัง ศีรษะ เป็นการหลุดลอกของเซลล์ผิวหนัง (หนังกำพร้า) ชั้นนอกสุดที่เรียกว่า ชั้นขี้ไคล ซึ่งจะลอกออกมาเป็นสะเก็ดสีขาว-เทา-เงิน และแห้ง เป็นแผ่นๆ หรือกระจายออกเป็นชิ้นเล็กๆ สะเก็ดนี้อาจหลุดร่วงจากหนังศีรษะได้เอง หรือหลุดออกเฉพาะเมื่อหวีผม ในปริมาณที่มากกว่าปกติ และอาจมีอาการคันศีรษะ พร้อมกับความรู้สึกที่แห้ง รังแคมักเป็นทั้งศีรษะ ยกเว้นบริเวณที่ศีรษะล้าน ถ้ากรณีสะเก็ดที่ลอกหลุดจากหนังศีรษะมีลักษณะเป็นมัน และมีสีเหลือง พร้อมๆ กับเป็นปื้นหนา ซึ่งเป็นการบวมอักเสบของชั้นผิวหนัง มีชื่อทางการแพทย์ว่า Seborrheic dermatitis เป็นโรคที่เป็นเรื้อรัง ไม่ค่อยหายขาด ไม่ทราบว่าอะไรเป็นสาเหตุ แต่พบเชื้อราประเภทหนึ่งที่มีชื่อว่า Pityrosporum ovale ในปริมาณที่มากกว่าปกติ (ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเชื้อรานี้เป็นต้นเหตุหรือสาเหตุทำให้เกิดโรคนี้) อย่างไรก็ตาม การใช้ยาเพื่อฆ่าหรือลดจำนวนเชื้อราชนิดนี้ให้ลดจำนวนลงไป ก็อาจจะทำให้อาการรังแคดีขึ้นได้ ถ้ามีปื้นหนาที่หนังของศีรษะ ร่วมกับมีสะเก็ดเป็นสีเทา-เงินอยู่บริเวณตีนไรผม ออกมาด้านนอกจะจัดเป็นชนิดหนึ่งของโรคสะเก็ดเงิน
ยารักษารังแค
ยา ที่ใช้ในการรักษารังแค ส่วนใหญ่เป็นชนิดน้ำและ อยู่ในรูปแบบแชมพู ซึ่งแนะนำว่า ควรใช้แชมพูยาชนิดใดชนิดหนึ่งจนกว่าจะควบคุมอาการของรังแคได้ ด้วยการฟอกแชมพูให้ทั่วหนังศีรษะและปล่อยทิ้งไว้ ๕-๑๐ นาที เพื่อให้ตัวยาออกฤทธิ์ได้ดี ก่อนที่จะชะล้างแชมพูยานี้ออกไป และเมื่ออาการดีขึ้นจนรังแคหายไปแล้ว ก็แนะนำให้ลดปริมาณการใช้แชมพูยาลงเหลือ ๒-๓ ครั้งต่อสัปดาห์ได้ ยาที่มีฤทธิ์รักษารังแคมีจำหน่ายอยู่หลายชนิด ซึ่งให้ผลของการรักษาได้ดีพอสมควร บางคนก็ได้ผลดี แต่บางคนก็ไม่ได้ผล เหมือนดั่งคำว่า "ลางเนื้อชอบลางยา" หรือบางคนเคยได้ผลดี แต่ต่อมาก็ได้ผลน้อยลงก็เป็นได้ คงต้องลองใช้ดู และถ้าไม่ได้ผลจึงลองเปลี่ยนไปใช้ตัวอื่น ยารักษารังแคมีดังนี้
๑. ซิงค์ ไพริไทออน (zinc pyrithione) แชมพูยาที่มีตัวยานี้มีคุณสมบัติต้านเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา แต่กลไกออกฤทธิ์จริงๆ ขจัดรังแคยังไม่เป็นที่กระจ่างจะช่วยลดอาการคันและการลอกของหนังศีรษะได้ แต่ก็มีรายงานว่าอาจเกิดผื่นแพ้ได้
๒. ซีลีเนี่ยมซัลไฟด์ (selenium sulfide) ออกฤทธิ์โดยลดการหลุดลอกของเซลล์ผิวหนังชั้นขี้ไคลของหนังศีรษะ การใช้แชมพูยานี้ให้ได้ผลจะต้องทิ้งแชมพูไว้บนหนังศีรษะประมาณ ๕ นาทีก่อนล้างออก จึงลดการเกิดรังแค
๓. คีโทโคนาโซล (ketoconazole) เป็นยาฆ่าเชื้อรามีจำหน่ายในรูปแบบของแชมพูยา มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราอื่นๆ ที่เป็นสาเหตุของรังแค คนที่เป็นรังแคชนิด Seborrheic Dermatitis พบว่า มีเชื้อราชื่อ Pityrosporum ovale มากกว่าปกติซึ่งตัวเชื้อราไม่ได้เป็นสาเหตุของรังแคโดยตรง แต่อาจทำให้เป็นรุนแรงมากขึ้น เมื่อใช้ยาตัวนี้แล้ว รังแคก็ดีขึ้นได้
ถ้า ใช้ยาเหล่านี้แล้วไม่ได้ผล ควรปรึกษาแพทย์ ซึ่งอาจแนะนำให้ใช้ยารักษารังแคชนิดอื่นๆ เช่น beta-methesone scalp application, coal tar, salicylic acid เป็นต้น
การดูแลสุขลักษณะที่ดี
รังแค เป็นโรคที่เกิดการผิดปกติของหนังศีรษะ ดังนั้น การดูแลสุขอนามัยที่ดีของร่างกาย จึงเป็นส่วนสำคัญเบื้องต้นในการดูแลรักษารังแค เริ่มต้นด้วยการควรดูแลสุขภาพกายและสุขภาพใจให้ดี มีความสบายกายและสบายใจ กินอาหารที่ถูกสุขลักษณะและให้ครบ ๕ หมู่ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอสัปดาห์ละไม่น้อยกว่า ๓ ครั้ง และครั้งละไม่น้อยกว่า ๓๐ นาที พักผ่อนนอนหลับอย่างน้อยวันละ ๖ ชั่วโมง ผ่อนคลายความตึงเครียด อย่าให้เคร่งเครียดจนเกินไป
การดูแลสุขภาพหนังศีรษะที่ดีเพื่อลดการเกิดรังแค
๑. ควรสระผมทุกวันด้วยแชมพูชนิดอ่อน เพื่อขจัดไขมันส่วนเกิน
๒. ใน กรณีที่ใช้แชมพูยา ถ้าใช้ได้ผลดีแล้วก็อาจลดลงเหลือเพียงสัปดาห์ละ ๒-๓ ครั้ง ในความถี่ของการสระที่เพียงพอต่อการควบคุมรังแค แต่ถ้าไม่ได้ผลก็อาจเปลี่ยนชนิดของแชมพูเสียใหม่ และในบางกรณีก็อาจใช้สลับกันก็ได้
๓. ควรหลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ ตกแต่งทรงผม เช่น เจลแต่งทรงผม มูส สเปรย์ฉีดผม เพราะผลิตภัณฑ์เหล่านี้อาจทำให้เกิดการระคายเคืองและเกิดการสะสมบนเส้นผมและ หนังศีรษะทำให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเจริญเติบโตของเชื้อรา และถ้าใช้ผลิตภัณฑ์ใดแล้วเกิดอาการรังแคเพิ่มมากขึ้น ควรหยุดใช้ผลิตภัณฑ์นั้นทันที
๔. ขณะที่กำลังสระผมด้วยแชมพู อาจนวดหนังศีรษะเบาๆ ด้วยปลายนิ้ว เพื่อช่วยขจัดสิ่งตกค้างและเป็นการกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดที่หนังศีรษะ ให้ดียิ่งขึ้นด้วย อย่าใช้เล็บเกา เพราะจะระคายเคืองหนังศีรษะ
๕. หลัง การสระผม ควรเช็ดผมให้แห้งเบาๆ ด้วยผ้าขนหนู หรือปล่อยให้แห้งตามธรรมชาติ ไม่ควรใช้เครื่องเป่าผม เพราะจะทำให้หนังศีรษะแห้ง เสียสมดุล
๖. ควร หวีผมเบาๆ ด้วยหวีซี่ห่างโดยเริ่มจากรากผมไปตลอดความยาวของเส้นผม เพื่อช่วยกระจายไขมันจากหนังศีรษะให้ทั่วเส้นผม และไม่ควรใช้หวีที่แข็งหรือมีซี่ของหวีที่ถี่เกินไป เพราะอาจจะดึงเส้นผมให้หลุดร่วงมากขึ้น
๗. ควรหลีกเลี่ยงการตกแต่ง เส้นผมด้วยความร้อน หรือสารเคมีต่างๆ โดยไม่จำเป็น ซึ่งอาจส่งผลต่อสุขภาวะของหนังศีรษะได้ เช่น การถักเปียแน่นๆ การกัดสีผม การโกรกย้อมผม การยีผมให้ฟู การเป่าผมด้วยลมร้อน เป็นต้น
ถึงตอนนี้ก็ พอจะเข้าใจและดูแลตนเองเบื้องต้น ในเรื่องรังแคนี้ได้ หากท่านมีข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องยาและสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องยารักษารังแค หรือปัญหาสุขภาพอื่นๆ ท่านสามารถปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรชุมชน (ที่ประจำอยู่ที่ร้านยา) ที่พร้อมให้คำปรึกษาในเรื่องสุขภาพแก่ท่านทุกเมื่อ
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment