ถ้า Ram เสียจะรู้ได้อย่างไร?…เรามีวิธีตรวจจ้า

หน่วยความจำเสียเกิดขึ้นได้ไม่บ่อยหนัก แต่น้อยคนนักจะทราบว่ามันเสีย เพราะอุปกรณ์ตัวนี้ไม่ได้แสดงอาการที่หนักหนาอะไรเหมือนกับอุปกรณ์อื่นๆ เช่น ฮาร์ดดิสก์ หรือซีพียู ที่ทำให้พีซีไม่สามารถใช้งานได้เลย
ปัญหาที่ผู้ใช้มักจะพบเจอเสมอก็คือ อาการของเครื่องแฮงค์ หรือหยุดทำงานไปซะเฉยๆ แต่กว่าจะหาสาเหตุได้ก็แทบแย่ บางคนใช้วิธีการฟอร์แมตฮาร์ดดิสก์ แล้วติดตั้งระบบปฏิบัติการลงไปใหม่ บางคนอาจจะใช้วิธีการถอดอุปกรณ์ต่างๆ ออก แล้วใส่เข้าไปใหม่ ซึ่งล้วนแล้วแต่ใครจะถนัดวิธีไหน แต่หลายๆ คน ลืมไปว่า อาการต่างๆ เหล่านี้อาจจะมาจาก หน่วยความจำที่ทำงานผิดปกติก็ได้
หน่วยความจำเสียได้อย่างไร?
สาเหตุที่ทำให้หน่วยความจำเสียหรือมีปัญหาในการทำงานก็มีด้วยกันหลายๆ
อย่างครับ ซึ่งเราต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่าหน่วยความจำ 1 แผงนั้น ประกอบไปด้วยชิปหน่วยความจำหลายๆ ตัวรวมเข้าด้วยกัน ดังนั้นหากตัวใดตัวหนึ่งเสีย ตัวหน่วยความจำก็ยังสามารถทำงานได้ แต่อาจจะไม่ปกตินัก ปัญหานี้ก็อาจจะเกิดมาตั้งแต่ผู้ผลิตที่ผลิตหน่วยความจำเป็นจำนวนมากๆ ย่อมมีชิปหน่วยความจำที่เกิดปัญหาบ้างซึ่งปกติผู้ผลิตจะมีการทดสอบการทำงาน ของหน่วยความจำก่อนจำหน่ายทุกครั้งอยู่แล้ว แต่ก็ยังมีชิปบางตัวที่หลุดรอดออกมาในตลาดได้เช่นกัน
นอกจากนี้สาเหตุที่เกิดจากผู้ใช้เองก็มีเช่นกันครับ
ตั้งแต่เรื่องของการติดตั้งแผงหน่วยความจำไม่ถูกวิธี เช่น เสียบแผงหน่วยความจำเข้ากับสล็อตบนเมนบอร์ดไม่แน่สนิท
ทำให้เวลาเปิดเครื่องแล้วเกิดการลัดวงจรขึ้น รวมไปถึงการใช้พาวเวอร์ซัพพลายที่ไม่ได้มาตรฐาน ทำให้ระบบการจ่ายไฟมีปัญหา
ก็ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อหน่วยความจำได้เช่นกัน และยังมีเรื่องของการลัดวงจรจากสาเหตุอื่นๆ เช่น กระแสไฟตก ไฟเกิน
เกิดกระแสไฟแรงสูงจากสายโทรศัพท์ ผ่านมายังโมเด็ม และสุดท้ายก็เป็นเรื่องของสภาวะแวดล้อมที่ไม่ค่อยดี มีฝุ่นเยอะ
ซึ่งจะไปเกาะที่ผิวสัมผัสของหน่วยความจำทำให้เกิดการสกปรกทำให้เวลาใช้งาน เกิดปัญหาขึ้นไป ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นสาเหตุให้หน่วยความจำมีปัญหาได้ทั้งสิ้น ซึ่งอย่างที่บอกครับว่า ความเสียหายนี้อาจจะเกิดขึ้นเฉพาะชิปหน่วยความจำตัวใดตัวหนึ่งเท่านั้น
ไม่ได้เสียทั้งหมด นั่นหมายถึงเราสามารถใช้งานได้ต่อไป แต่ว่าจะพบกับปัญหาต่างๆ เกิดขึ้นตามมาอยู่เรื่อยๆ และเราไม่สามารถหาสาเหตุได้

สัญญาณบอกเหตุ ให้รู้ว่าหน่วยความจำเสีย
แน่นอนครับ เมื่อหน่วยความจำเสีย ก็มักจะมีอาการต่างๆ เกิดขึ้นมาให้เห็น ซึ่งส่วนใหญ่จะมีอาการต่างๆ ดังนี้
1. เกิดจอฟ้าขึ้นระหว่างใช้งาน พร้อมข้อความแจ้งเตือนต่างๆ ซึ่งผู้ใช้ต้องรีบูตเครื่องใหม่เท่านั้น
2. เกิดจอฟ้าระหว่าการติดตั้งระบบปฏิบัติการ windows 2000 และ windows XP
3. เกิดอาการเครื่องแฮงค์ระหว่างการใช้งานโดยไม่ทราบสาเหตุ
4. เกิดอาการจอฟ้าระหว่างเปิดโปรแกรม หรือเกมส์ ที่ต้องใช้หน่วยความจำเป็นจำนวนมาก เช่น เกมส์สามมิติต่างๆ โปรแกรมกราฟิก รวมถึงโปรแกรมสำหรับทดสอบเครื่อง
5. เกิดภาพที่แสดงออกมาผิดเพี้ยน ซึ่งสาเหตุอาจจะรวมไปถึงตัวการ์ดจอมีปัญหาได้
6. ไม่สามารถบูตเครื่องได้ ซึ่งตัวเครื่องจะส่งเสียงสัญญาณออกมาให้ทราบว่าหน่วยความจำมีปัญหา
หรือว่าจะแสดงให้เห็นบนจอภาพเช่น Memory test fail เป็นต้น

ตรวจสอบหน่วยความจำด้วยซอฟต์แวร์ หากคุณพบเจออาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นตามหัวข้อต่างๆ ก่อนหน้านี้แล้ว
ขั้นตอนต่อไปเราจะมาใช้ซอฟต์แวร์ตรวจสอบหน่วยความจำ แต่ก่อนจะไปใช้ซอฟต์แวร์เราต้องตรวจสอบหน่วยความจำของเราก่อนว่า
มีอยู่ทั้งหมดกี่แผง แต่ละแผงมีหน่วยความจำขนาดเท่าไหร่ และหน่วยความจำที่โชว์ตอนบูตเครื่องแสดงครบถ้วนหรือไม่ ถ้าไม่ครบก็ค่อนข้างง่ายครับ เพราะเราสามารถถอดเปลี่ยนสลับดูว่าแผงไหนเสียได้ แต่ถ้าทุกๆ อย่างปกติ เราต้องใช้ซอฟต์แวร์ตรวจสอบกันต่อไป ซอฟต์แวร์สำหรับตรวจสอบหน่วยความจำนั้นมีอยู่หลายๆ ตัวครับ แต่ว่าที่น่าสนใจก็มีอยู่ 3 ตัวด้วยกัน
Memtest86+ โปรแกรมยอดนิยมสำหรับตรวจสอบหน่วยความจำ ซึ่งมีขนาดเล็กมากๆ อยู่ราวๆ 34 - 55.1 กิโลไบต์ ตามแต่เวอร์ชันและรูปแบบที่เราเลือกดาวน์โหลดมาใช้ครับ โปรแกรมนี้ออกแบบมาตั้งใจให้ทดสอบหาส่วนที่เสียหายของแรมครับ ซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้ที่ Memtest86+ - Advanced Memory Diagnostic Tool จากนั้นติดตั้งได้เลย มีข้อแม้ว่าคุณต้องใช้แผ่นดิสก์เก็ตด้วย และต้องบูตเครื่องใหม่ผ่านแผ่นดิสก์เก็ตนี้ สำหรับการใช้งานเมื่อเปิดโปรแกรมแล้ว ก็กดปุ่ม C จะมีเมนูต่างๆ มาให้เลือก ซึ่งในส่วนของโหมดการทดสอบนี้ จะทดสอบหน่วยความจำพร้อมแสดงรายละเอียดให้เห็น และถ้ามีข้อผิดพลาดก็จะแจ้งรายละเอียดข้อผิดพลาดนั้นๆ ให้ทราบผ่านทางหน้าจอด้วย

DocMemory เป็นโปรแกรมทดสอบหน่วยความจำอีกตัวหนึ่งที่น่าใช้เช่นกันครับ
สามารถดาวน์โหลดได้ที่
CST Inc, The DDR4,DDR3,DDR2,DDR1 Memory Tester Company that Provides Memory Solution ซึ่งมีขนาด 271 กิโลไบต์เท่านั้น
โปรแกรมนี้ต้องใช้แผ่นดิสก์เก็ตสำหรับติดตั้งเช่นกัน และต้องบูตด้วยแผ่นดิสก์เก็ตด้วย โปรแกรมนี้ก็จะคล้ายๆ กับตัวโปรแกรม Memtest86+ ซึ่งจะแสดงรายละเอียดปัญหาของหน่วยความจำให้ทราบด้วย พร้อมกันนี้ยังสามารถปรับตั้งการทดสอบแบบวนลูปได้อีกด้วย //doc1,doc2,doc3// การทดสอบหน่วยความจำด้วยโปรแกรม DocMemory windows Memory Diagnostic
เป็นซอฟต์แวร์ของไมโครซอฟท์ ซึ่งมีไว้สำหรับทดสอบหน่วยความจำครับ สามารถดาวน์โหลดได้จาก Microsoft Online Crash Analysis ขนาดไฟล์ 639 กิโลไบต์ ต้องใช้แผ่นดิสก์เก็ตในการติดตั้ง
หรือว่าจะเลือกใช้แผ่นซีดีสำหรับบูตเช่นกัน โปรแกรมนี้จะวิเคราะห์การทำงานของหน่วยความจำ เพื่อค้นหาจุดต่างๆ ที่มีปัญหา
และรายงานผลออกมาให้ผู้ใช้ทราบ

นอกจากโปรแกรมต่างๆ ที่ใช้ตรวจสอบหน่วยความจำที่เสียหายแล้ว ยังมีโปรแกรมอีกประเภทที่มีไว้ทดสอบความเร็ว และแสดงรายละเอียดต่างๆ ของหน่วยความจำมีชื่อว่า Sisoft Sandra 2004 เป็นซอฟต์แวร์สำหรับทดสอบส่วนต่างๆ ของพีซี ซึ่งนิยมใช้กันเป็นอย่างมาก สามารถดาวน์โหลดได้ฟรีๆ ที่ SiSoftware Zone โปรแกรมนี้จะมีส่วนของการแสดงรายละเอียดอุปกรณ์ต่างๆ
ของเครื่องครับ คุณสามารถเปิดดูว่าหน่วยความจำที่อยู่ในเครื่องมีขนาดเท่าไหร่ มีจำนวนกี่แผงจากนั้นก็มีโหมดสำหรับทดสอบ (Benchmark) ซึ่งโปรแกรมจะทำการทดสอบความเร็วในการทำงานของหน่วยความจำ หากไม่มีอะไรผิดพลาดก็จะแสดงผลทดสอบออกมาเปรียบเทียบกับหน่วยความจำแบบอื่นๆด้วยครับ

ตรวจสอบหน่วยความจำด้วยฮาร์ดแวร์
เมื่อมีซอฟต์แวร์สำหรับตรวจสอบแล้ว ก็มีคนคิดค้นอุปกรณ์สำหรับตรวจสอบหน่วยความจำขึ้นมาด้วย ซึ่งถ้าถามผมว่าผู้ใช้ทั่วๆ ไปควรใช้มั้ย ผมก็คงต้องตอบว่าไม่ควรครับ ที่ว่าไม่ควรนั้นก็เพราะว่า อุปกรณ์สำหรับตรวจสอบหน่วยความจำเหล่านี้มีราคาค่อนข้างแพง
ผมว่าใช้ซอฟต์แวร์ตรวจสอบดีแล้วครับ เก็บเงินไว้ซื้อหน่วยความจำแผงใหม่จะดีกว่า แต่ถ้าคุณเป็นร้านค้าจำหน่ายพวกอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ รับประกอบเครื่องก็น่าจะมีไว้ใช้ สำหรับอุปกรณ์ต่างๆ เหล่านี้ก็มีที่ทดสอบหน่วยความจำของเครื่องพีซี และโน้ตบุ๊กได้
ครอบคลุมหน่วยความจำทุกๆ ประเภทที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้ครับ หากสนใจก็คงต้องมองหาจากอินเทอร์เน็ต เพราะบ้านเราไม่ค่อยมีใครนำเข้ามาจำหน่าย


การแก้ปัญหาเบื้องต้น การแก้ไขปัญหาเบื้องต้นที่นิยมใช้กันก็คือ หลังจากเราทดสอบหน่วยความจำแล้วและพบว่ามีปัญหาจริงๆ แล้ว ก็ให้เปิดฝาเคส ถอดหน่วยความจำทั้งหมดออกครับ จากนั้นทำความสะอาดตัวเมนบอร์ดตรงส่วนของสล็อตหน่วยความจำ
และตัวแผงหน่วยความจำให้ทำความสะอาดส่วนของผิวสัมผัสที่เป็นสีทองโดยใช้ ยางลบธรรมดานี่แหละครับ ถูไปมาจะสังเกตได้ว่าสีของผิวสัมผัสจะเปลี่ยนไปเล็กน้อย จากนั้นก็ใส่กลับเข้าไป แล้วลองเปิดใช้งานดูครับ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าจะสามารถใช้งานได้ดีเช่นเดิมนะครับ เพราะการทำวิธีนี้เป็นการแก้ปัญหาเรื่องของความสกปรกของตัวแผงหน่วยความจำ เท่านั้นเอง

ส่วน ถ้าปัญหามันเกิดขึ้นตรงที่ชิปหน่วยความจำเสีย คุณอาจจะดูว่ามันน่าจะซ่อมได้ เพราะชิปมันถูกแบ่งออกมาเป็นตัวๆ เสียตัวไหนก็เปลี่ยนตัวนั้น แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่มีใครทำกันครับ เพราะยุ่งยาก และลำบาก แถมทำมาไม่มีจะทำให้เกิดการลัดวงจร ส่งผลให้ส่วนอื่นๆ เสียหายอีก
ดังนั้นในกรณีนี้ เราควรเลิกใช้หน่วยความจำแผงเดิม หากหน่วยความจำอยู่ในอายุการรับประกันก็นำไปเคลมครับ แต่ถ้าหมดแล้วก็เสียใจด้วย คงต้องเปลี่ยนอย่างเดียว

การรับประกันหน่วยความจำ ตอนนี้หน่วยความจำส่วนใหญ่จะส่งเสริมการขายด้วยการรับประกันแบบ Life Time Warranty ซึ่งตามความเข้าใจของหลายๆ คน ก็น่าจะหมายถึง การรับประกันตลอดอายุการใช้งาน โดยความจริงแล้วการรับประกันประเภทนี้ การรับประกันจะสิ้นสุดเมื่อไม่มีการผลิตหน่วยความจำประเภทนั้นๆ แล้ว นั่นเอง แต่ก็ถือว่าเป็นการรับประกันที่ดีกว่าแบบเดิมๆ ที่มีแค่ 1 ปี หรือ 3 ปีให้เลือกเท่านั้น ตอนนี้หน่วยความจำที่จำหน่ายอยู่เกือบทั้งหมดมีการรับประกันแบบ
Life Time Warranty แล้ว แต่ก็มีบางยี่ห้อยังให้การรับประกับแบบ 1 หรือ 3 ปีอยู่ ดังนั้นการเลือกซื้อหน่วยความจำไม่ควรจะดูที่ราคาอย่างเดียว ควรดูยี่ห้อ และคุณภาพ รวมถึงการรับประกันด้วย ซึ่งอาจจะอาศัยการอ้างอิงจากแบบทดสอบจากเว็บไซต์ต่างๆ
หรือว่าจากนิตยสารเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดครับ

สรุป
เอาหล่ะ
ตอนนี้หากเครื่องพีซีของคุณมีอาการผิดปกติ แฮงค์บ่อยๆ หรือเกิดจอฟ้า (Blue Screen) ก็คงต้องถึงเวลาไปหาสาเหตุกันแล้วหล่ะครับ โดยเฉพาะหน่วยความจำที่คุณควรจะตรวจสอบเป็นอันดับต้นๆ ก่อนจะไปฟอร์แมตฮาร์ดดิสก์ แล้วติดตั้งโปรแกรมใหม่ซึ่งใช้เวลาค่อนข้างมาก ส่วนผมตอนนี้คงต้องไปซื้อหน่วยความจำใหม่แล้วหล่ะครับ เพราะกว่าจะเขียนบทความนี้จบ เกิดจอฟ้าไปหลายรอบเลย